โดย ดร.อดุลย์ ลือชัย Ph.D.(Politics)
บทนำ
เมื่อเรากล่าวถึง “พืชเศรษฐกิจไทย” ต่างก็นึกถึง…ข้าว, ยางพารา, อ้อย, มันสำปะหลัง, พืชน้ำมันปาล์ม หากแยกกลุ่มเจาะลึกลงไปอีก เช่น กลุ่มพืชออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เช่น ชา กาแฟ ยาสูบ เป็นต้น
ส่วนพืชกระท่อม แม้นจะมีโทษน้อยกว่าพืชออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทบางตัว แต่ก็ถูกสังคมระหว่างประเทศมองว่า เป็นพืชอันตราย ถูกจัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จากผลการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ ว่าด้วยยาเสพติดโลก ค.ศ.2016 เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การพิจารณานำพืชเสพติดมาใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรม การรักษาสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกแก้ไขกฎหมายยาเสพติด
ในประเทศไทย ได้ยกเลิกพืชกระท่อมเป็นพืชเสพติด เนื่องด้วยต้องกานำพืชกระท่อมมาบรรเทาโรคต่างๆ และได้ยกร่าง “พระราชบัญญัติ พืชยา กัญชา กระท่อม พ.ศ….” เพื่อนโยบายของรัฐสู่เป้าหมาย “กระท่อม” เป็นพืชยา สร้างความมั่นคงด้านยาของประเทศ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจ
แหล่งปลูกพืชกระท่อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แหล่งกำเนิด – ปลูกกระท่อม
กระท่อมมีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และปาปัวนิวกินี
ประเทศไทย ปลูกมากแถบจังหวัดภาคใต้ของไทย เช่น ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช
ประเทศมาเลเซีย ปลูกมากแถบ เกาะปีนัง, ตอนเหนือของมาเลเซีย
ประเทศอินโดนีเซีย ปลูกแถบเกาะบาหลี, เกาะบอเนียตอนใต้, เกาะสุมาตรา ประเทศเวียดนาม ปลูกแถบจังหวัดจีอาว (Giang) เมืองลองซูเยียน (long xuyen)1
กระท่อมช่วยพยุงเศรษฐกิจอินโดนีเซีย : ส่งออกไปสหรัฐฯ
พืชกระท่อมที่พบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นบ้านของพืชกระท่อม (the home of Kratom) ก็คืออินโดนีเซีย ด้วยสภาพที่เหมาะสมทางภูมิศาสตร์ กล่าวคือ ภูมิอากาศ, ความสมบูรณ์ของดิน และปริมาณน้ำฝน เหมาะสมกับพืชกระท่อมอย่างที่สุด
โดยเฉพาะเกาะบอเนียว ของอินโดนีเซีย มีชื่อเสียงการผลิตกระท่อมจำนวนมาก ทั้งระดับรากหญ้า, เกษตรกรท้องถิ่นและผู้ส่งออก ได้รับรายได้จากการส่งออก ขายกระท่อมไปยังประเทศตะวันตกทุกๆ ปี
รัฐของอินโดนีเซียห้ามบริโภคกระท่อม แต่อนุญาตให้ส่งออกในรูปวัตถุดิบ
สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำเข้ากระท่อมรายใหญ่จากอินโดนีเซีย ตามที่ “สมาคมกระท่อมอเมริกา” ระบุว่ามีชาวอเมริกาใช้กระท่อมอยู่ประจำประมาณห้าล้านคน ซึ่งจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลไม่เป็นทางการ คาดได้ว่า สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้ากระท่อมแต่ผู้เดียวจากอินโดนีเซีย มูลค่าประมาณ 130 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือ 4,420 ล้านบาทต่อปี